ดีต่อใจ แค่เปลี่ยนจากพาไปเที่ยวประจำปี เป็นไปสัมมนา

…อย่างที่เรารู้กันจากในบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ Outing Trip ว่าหากคุณจัดการท่องเที่ยวประจำปีให้กับพนักงานในบริษัทแล้วนั้น การพาพนักงานไปเที่ยวทางกรมสรรพากรถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากหน้าที่การงานของพนักงาน ดังนั้นจะถือเป็นเงินได้ของพนักงานจึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในบทความที่แล้วว่าเรามีวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เป็นเงินได้ของพนักงานและยังสามารถหักค่าใช้จ่ายให้บริษัทได้ถึง 2 เท่า เพียงแค่เปลี่ยนจากการพาพนักงานไปเที่ยว เป็นการจัดสัมมนานอกสถานที่เท่านั้นเอง

เพราะรายจ่ายในการจัดสวัสดิการท่องเที่ยวสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ (ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม) แต่พนักงานต้องนำค่าสวัสดิการนั้นไปถือรวมเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(1) เว้นแต่การจัดสวัสดิการจัดอบรมสัมมนานอกสถานที่ก็ไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 267
อ่านเพิ่มเติม https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg267.pdf

ในการพาพนักงานบริษัทไปจัดสัมมนานอกสถานที่

กำหนดให้บริษัทมีภาระที่ต้องจัดสวัสดิการดังกล่าวหรือแม้ไม่มีการกำหนดแต่บริษัทได้แจ้งพนักงานของบริษัทว่าจะมีการจัดสวัสดิการดังกล่าวให้แก่พนักงานเป็นการทั่วไปไม่ระบุเฉพาะเจาะจงแก่พนักงานคนใดคนหนึ่ง เช่นนี้รายจ่ายในการจัดสวัสดิการนั้นย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมาลรัษฎากร โดยบริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เว้นแต่เป็นการจัดสวัสดิการสัมมนานอกสถานที่ (Study Tour)

ก็ไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงานตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545

สรุปเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 267 (การจัดสัมมนา)

เมื่อมีกิจกรรมสัมมนาต้องทำตามเงื่อนไขดังนี้

  • มีระเบียบสวัสดิการกำหนดไว้
  • พนักงานทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมโดยเท่าเทียมกัน
  • มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของพนักงาน และเพื่อประโยชน์ของกิจการ
  • มีหลักฐานเอกสารประกอบโครงการอบรม
  • ใบอนุญาติประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

ถึงจะสามารถนำรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดสัมมนาประจำปี มาหักเป็นรายจ่ายของกิจการได้

ตัวอย่างรายจ่ายเช่น

  • ค่าเดินทาง
  • ค่าห้องสัมมนา, ค่าห้องพัก
  • อาหารเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับการสัมมนา
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่นค่าวิทยากร, ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการอบรม, ค่าบันทึกภาพ, ค่าจัดทำสื่อเกี่ยวกับการอบรม ฯลฯ


การสัมมนาในประเทศ :
เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการทำงานของพนักงาน การบริการงาน หรืออบรมด้านจิตวิทยา ด้านสันทนาการ พนักงานไม่ต้องนำมาเป็นเงินได้ของพนักงานเพื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กิจการสามารถนำรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดสัมมนาในประเทศมาหักรายจ่ายของกิจการได้โดยหักรายจ่ายได้ 1 เท่า
และภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการ สัมมนาในประเทศและการพาพนักงานไปเที่ยวประจำปี หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสวัสดิการและเป็นการจัดให้แก่พนักงานทุกคนในลักษณะสวัสดิการโดยไม่เลือกปฏิบัติให้กับพนักงานบางคน ถือว่าเป็นประเภทสวัสดิการของพนักงานและถือเป็นรายจ่ายในการสัมมนาในประเทศ นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

เรียกได้ว่านอกจากจะได้พาทีมงานไปเพิ่มความรู้หรือทักษะบางอย่าง ยังได้พักผ่อน ได้สร้างความรักความสามัคคี สร้างความสัมพันธ์อันดี สร้างประสบการณ์ที่ดี สร้างขวัญกำลังใจที่ดี เพื่อให้พนักงานกลับมาสร้างผลงานดีๆให้องค์กรแล้ว

แล้วยังสามารถที่จะช่วยประหยัดภาษีได้เยอะแยะ ทั้งบริษัท และพนักงาน เพียงแค่ “เปลี่ยนจากพาพนักงานไปท่องเที่ยว เป็นไปสัมมนานอกสถานที่แทน”…

ที่มา https://www.wayaccounting.com/

https://www.accprotax.com/


รูปภาพ
https://www.pexels.com/