นักบัญชียุค Digital

“ ทุกวันนี้ ไม่มีอาชีพไหนเลยที่ไม่โดน Disruption โดยเทคโนโลยี เพราะแม้กระทั่งวิชาชีพ นักบัญชี ซึ่ง จากเดิมมีหน้าที่หลักคือ ทำบัญชี รายรับ-รายจ่ายของหน่วยงานเป็นหลักเท่านั้น แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นใหญ่ คนทำงานด้านนี้จะมีแค่ทักษะการทำบัญชีคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว พวกเขาต้องเพรียบพร้อมไปด้วยทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ รู้จักเทคโนโลยีบล็อกเชน ทั้งยังต้องทำหน้าที่เป็นดั่ง เพื่อนคู่คิด ของผู้ประกอบการ จึงต้องเป็นผู้ที่สามารถคิดวิเคราะห์ จัดการข้อมูล เข้าใจธุรกิจและตลาด ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น นักบัญชียุคใหม่ ที่ทุกองค์กรปรารถนา ”

ทุกวันนี้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Digital Transformation จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้

Digital Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ และการส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า รวมถึงขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร โดยตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการจนถึงผู้บริหารระดับสูงควรมีส่วนร่วมในการปรับตัวไปกับองค์กรด้วยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเพื่อป้องกันการเกิด Digital Disruption

การเตรียมรับมือความท้าทายเหล่านี้จึงจำเป็นที่นักบัญชี ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง ต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการ การวิเคราะห์ และดึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลออกมาให้ได้ จะนำมาซึ่งการหาคำตอบและทองออกที่ตอบโจทย์ของธรุกิจ

ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมากมายที่ถูกสร้างขึ้นมา จะเนื่องด้วย Digital Disruption หรือภาวะโควิค-19 ทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักบัญชีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการทำงานของนักบัญชี ได้แก่

1. Advance Data Analytics

คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็น Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากมายมหาศาล(Volume), ข้อมูลมีความหลากหลายและซับซ้อน (Variety), ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา (Velocity), ข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลคนละที่หรือคนละชนิด แต่มีการจัดระเบียบหรือวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ (Veracity) และข้อมูลมีความซับซ้อนสูงจึงต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อการวิเคราะห์และประมวลผล (Complexity) โดยนักบัญชีจะนำข้อมูลมาประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารให้นำไปใช้ในการวางแผนตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันในวงการบัญชีมีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data (Big Data Analytics) ได้แก่

  •  ในองค์กรขนาดใหญ่เริ่มมีการทำ Big Data Analytics โดยกระบวนการจัดทำมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ Data Engineer, Data Scientist และ Data Analyst โดยนักบัญชีจะมีบทบาทเป็น Data Analyst ในเชิงบัญชีบริหาร
  •  ธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก 4 ราย (Big Four) ได้ใช้ Big Data Analytics ในการสอบบัญชี โดยวิธีการ Sampling Audit (การสุ่มตัวอย่าง) เป็น 100%
  •  กรมสรรพากรมีการลงนามร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่และวิเคราะห์ข้อมูลด้านภาษี  เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลและเป็นการร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของกรมสรรพากรด้าน Data Science ให้มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับทักษะในอนาคต
2. RPA (Robotic Process Automation)

คือ โปรแกรมออกแบบการสร้างหุ่นยนต์ (Robot) โดยเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ให้ทำงานตามรูปแบบที่กำหนดสำหรับงานที่มีจำนวนมาก เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการทำ Transaction Process ซึ่งมีลักษณะทำซ้ำๆ และไม่มีความซับซ้อน เป็นงานที่มีข้อกำหนดตายตัวตามข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ มีเงื่อนไขการตัดสินใจที่เป็นแบบแผน รวมทั้งงานประเภทที่มักเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย เป็นระบบที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น การทำงบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร การบันทึกใบแจ้งหนี้ (Invoice Processing) เป็นต้น ประโยชน์ของRPA ได้แก่

  1. ช่วยลดปริมาณงานที่ต้องทำซ้ำ งานเสร็จเร็วขึ้น
  2. ลดความผิดพลาดของงานที่เกิดจาก human error
  3. ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน
  4. สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
3. ระบบ Cloud และการใช้ Software as a Service (SaaS)

Cloud เป็นหน่วยพื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

การประมวลผลระบบ Cloud แบ่งออกได้เป็น 3 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่

IaaS เป็นการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน หมายถึง ผู้ให้บริการ Cloud ที่มีพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ให้ตั้งแต่พื้นที่จัดเก็บข้อมูลไปจนถึงการโฮสต์เว็บ โดยผู้ใช้สามารถจัดการและบำรุงรักษาข้อมูลเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ ถึงแม้ผู้ใช้จะเช่าเพียงแค่ทรัพยากรประมวลผลเท่านั้น ตัวอย่างของ IaaS เช่น Dropbox ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึง แก้ไขและเพิ่มข้อมูลได้ตามที่ต้องการ, Netflix ใช้โมเดล IaaS ในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลจากลูกค้าทั่วโลกที่เข้าถึงเป็นประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PaaS เป็นการบริการด้านแพลตฟอร์ม ที่เพิ่มการควบคุมมากขึ้นสำหรับผู้ให้บริการคลาวด์ PaaS ให้บริการแพลตฟอร์มเสมือนสำหรับการพัฒนาและการทดสอบแบ็กเอนด์ โดยให้กรอบการทำงานเสมือนโปรแกรมเมอร์ที่สามารถใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ออนไลน์ได้ โดยที่เซิร์ฟเวอร์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดยังคงจัดการโดยผู้ให้บริการอยู่

SaaS หมายถึง ซอฟต์แวร์ใดก็ตามที่ทำงานผ่านคลาวด์ เช่น Dropbox Paper เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้าง แก้ไข แชร์ และทำงานร่วมกันในไฟล์ข้อความทางออนไลน์ได้ โดยผู้ให้บริการเป็นผู้ดูแลระบบ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันได้ตามต้องการและทำงานกับไฟล์จากอุปกรณ์ใดก็ได้

ประโยชน์ของคลาวด์ ได้แก่

  1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ รวมทั้งการจ้างพนักงานด้านไอที
  2. การสำรองข้อมูลไว้บนระบบคลาวด์ช่วยลดความเสี่ยงในการสำรองไฟล์และการเก็บข้อมูลไว้เพียงที่เดียว
  3. มีความปลอดภัยของข้อมูลในการเข้าสู่ระบบ โดยใช้ password และผู้ใช้สามารถตั้งค่าความปลอดภัยบนคลาวด์เองได้
4. AI (Artificial Intelligence)

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาให้มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผนและตัดสินใจได้รวมทั้งการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นได้ อาชีพที่มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนหรือมีรูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานมีโอกาสถูก AI เข้าไปแทนที่ได้ อย่างงานบัญชีที่มีลักษณะการทำซ้ำเดิมๆ  AI มีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจดังนี้

  1. ใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนมากได้อย่างแม่นยำ

AI สามารถประมวลผลข้อมูลด้วยความถูกต้องแม่นยำและนำเสนอได้ภายในเวลาที่จำกัด ตัวอย่างเช่น การค้นหาข้อมูลโดยใส่คีย์เวิร์ดใน Google ซึ่งใช้ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้คำค้นหาหรือคีย์เวิร์ดทำให้ได้ข้อมูลที่ต้องการค้นหา หรือด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ปัจจุบันมีมัลแวร์ (ซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย) เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ระบบ AI ช่วยในการตรวจสอบติดตามแยกแยะได้ว่าไฟล์ไหนเป็นมัลแวร์คุกคาม

  1. ใช้ในการประเมินพฤติกรรมผู้บริโภค

AI ช่วยประเมินผลพฤติกรรมผู้บริโภคจากประวิติการสั่งซื้อ โดยสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ขายสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า  นอกจากนี้ AI ยังช่วยสร้างแบรนด์ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ หรือการช่วยทำ SEO ที่ตอบโจทย์ในการค้นหาของลูกค้ารวมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาที่ดึงดูดผู้อ่าน ไปจนถึงการโปรโมทสินค้าและทำโฆษณา

  1. ช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในการตัดสินใจ

AI ช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจสำหรับเจ้าของธุรกิจให้ได้ทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด ในการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล ปราศจากอารมณ์ ความคิดเห็นหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งต่างจากการตัดสินใจของมนุษย์

แน่นอนว่าเมื่อนักบัญชีถูกคาดหวังให้รับบทบาทที่กว้างขึ้น นักบัญชีก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ

4 ทักษะสำคัญของนักบัญชีในยุคดิจิทัล
1. ทักษะทางด้านธุรกิจ (Business Skill)

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนักบัญชีมีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูล วิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลและจัดทำรายงานเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อตอบรับกับ Digital Transformation นักบัญชีควรพัฒนาทักษะทางด้านธุรกิจดังนี้

1.1 ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ (Data Analytical Skill)

นักบัญชีควรมีความเข้าใจขอบเขตและการดำเนินการทางธุรกิจที่ทำบัญชีอย่างถ่องแท้ ควรติดตามความรู้ ข่าวสาร ข้อมูลในทางธุรกิจ พัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับบทบาทไปสู่การเป็น Business Partner ให้กับผู้บริหารในยุคดิจิทัล นักบัญชีควรพัฒนาทักษะการวิเคราะห์แบบ Business Insight ทำความเข้าใจธุรกิจในหลากหลายมิติและมองไปข้างหน้า (Forward-looking) สามารถระบุประเด็นสำคัญ ตั้งคำถาม ออกแบบและเสนอรูปแบบการวิเคราะห์ที่หลากหลาย ช่วยผู้บริหารวางแผนกลยุทธ์ เพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจ

1.2 ทักษะในการจัดการ (Administrative Skill)

นักบัญชีต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการทีมงาน การเจรจาต่อรอง ความสามารถทำงานร่วมกันกับ Business Function อื่นๆ ในองค์กร ได้แก่ หน่วยงานขาย จัดซื้อ ทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกระบวนการทำงาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสร้างข้อมูลแบบเชิงลึก (Insight) ที่เสนอแนวทางการแก้ปัญหา (Solution)  ที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนองคาพยพของทั้งองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

2. ทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Skill)

เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักบัญชีต้องเปิดใจและมอง Digital Transformation เป็นโอกาสแทนที่จะมองเป็นวิกฤตโดยนักบัญชีควรพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องได้แก่

2.1 Data Mining คือ การวิเคราะห์แยกแยะและหาความสัมพันธ์ของข้อมูล Big Data

2.2 Data Visualization คือ การสรุปและแสดงข้อมูลในรูปแผนภาพ กราฟ แผนภูมิหรือวิดีโอ ซึ่งจะช่วยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกและแสดงแนวโน้มในอนาคต เครื่องมือที่เป็น Data Visualization ได้แก่ Power BI, Tableau, Google Data Studio เป็นต้น

2.3 Data Modelling คือ การสร้างแบบจำลองข้อมูล หรือแนวคิดที่ใช้อธิบายโครงสร้าง ความสัมพันธ์และความหมายของข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายขึ้น

3.ทักษะความรู้ความชำนาญทางด้านวิชาชีพ (Professional Skill)

การเกิด Digital Disruption ทำให้นักบัญชีต้องพัฒนาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพให้มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งทักษะทางด้านสติปัญญา (Intellectual Skill) และทักษะทางด้านเทคนิคทั่วไปและเทคนิคเฉพาะทางด้านวิชาชีพ (Technical Skill) นักบัญชีต้องติดตามความรู้อย่างสม่ำเสมอสำหรับมาตรฐานบัญชีและกฎหมายภาษีที่มีการอัปเดตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็น Lifelong learning ที่ต้องพัฒนาและรักษามาตรฐานของวิชาชีพ

4. ทักษะทางด้านอารมณ์การสื่อสาร (Soft Skill)

นอกเหนือไปจากทักษะความรู้ที่ใช้ในการทำงานหรือที่เรียกว่า Hard Skill แล้ว นักบัญชีควรมี Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะทางด้านอารมณ์ ความสามารถในการประสานงานและการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีความสำคัญในการทำงานเป็นทีมและทำงานกับเพื่อนร่วมงานต่างสาขาอาชีพ

ในโลกธุรกิจวันนี้ คงไม่มีใครสามารถต้านทานคลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้ได้อีกแล้ว มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์จะมากขึ้นอย่างน่าตกใจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และคอยเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ จะทำให้เราอยู่ในยุคดิจิทัลได้อย่างสบายแน่นอน! “

.

ข้อมูลบทความรูปภาพจาก

https://blog.peakaccount.com/

https://bangkok-audit.com/