ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ แล้วนายจ้างต้องเตรียมตัวอย่างไร?

การปรับเปลี่ยนค่าจ้างค่าแรงของพนักงานทุกครั้งย่อมส่งผลต่องบประมาณและค่าใช้จ่ายบริษัทอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากต้องมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่
สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมตัวคือ วางแผนคุมค่าใช้จ่ายของธุรกิจ โดยเริ่มจากการตรวจสอบว่ามีพนักงานกี่คนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนใดได้บ้าง และสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีการปรับโครงสร้างบริษัทแล้ว

ค่าจ้างขั้นต่ำ คืออะไร?

ค่าจ้างขั้นต่ำ คือเงินค่าตอบแทนขั้นต่ำที่สุดซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงถึงวุฒิการศึกษา เพศ ประเภทของงาน สัญญาติ หรือจะอยู่ในช่วงทดลองงานก็ต้องได้ไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
โดยในหนึ่งวันคิดเป็น 8 ชั่วโมง แม้ว่าลูกจ้างจะทำงานน้อยกว่านั้นก็ต้องจ่าย 8 ชั่วโมง ไม่สามารถลดทอนค่าจ้างลงได้
อีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจคือ ชื่อเรียกต่างๆ ของเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างนั้นถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ เช่น สวัสดิการต่างๆ (ค่าเช่าบ้าน, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง) หรือค่าคอมมิชชั่น สิ่งที่ไม่ใช่เป็นการตอบแทนเพื่อการทำงาน จะไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแล้ว อย่าลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าจ้างตามมาอีกคือ

  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  • เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • ค่าล่วงเวลา และรายจ่ายอื่นๆ ที่คิดจากเงินเดือนเป็นฐาน เช่น ค่าคอมมิชชั่น และโบนัส เป็นต้น

นอกจากนี้ นายจ้างยังต้องเตรียมพร้อมวางแผนในการจัดการส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนให้ดี เช่น

  • วิธีการปรับค่าจ้าง เมื่อมีการปรับค่าจ้างให้กับกลุ่มพนักงานที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำแล้ว กลุ่มพนักงานที่มีฐานเงินเดือนสูงกว่าจะทำอย่างไร จะปรับขึ้นด้วยหรือไม่ หากไม่มีการปรับเลยก็อาจจะทำให้เกิดการลาออกได้ จึงควรระวังเรื่องความเป็นธรรมประกอบด้วย
  • อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา บริษัทที่มีการกำหนดอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาสำหรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่นั้น ควรระวังเรื่องของอัตราแรกจ้างในส่วนของวุฒิ ปวช. และ ปวส. และอาจจะต้องตรวจสอบวุฒิปริญญาตรีด้วย
  • โครงสร้างเงินเดือน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนเพราะค่าจ้างมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งธุรกิจที่มีโครงสร้างของพนักงานที่มีอายุงานน้อยในสัดส่วนที่สูงกว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า

วิธีคุมค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง และเงินเดือน

เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจซื้อมาขายไปที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่าเพิ่งรีบแก้ปัญหาด้วยการไปเพิ่มราคาขายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากสินค้าของเรามีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ก็ยิ่งทำให้คาดเดายอดขายได้ยากในสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เจ้าของธุรกิจสามารถปรับวิธีการบริหารค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้ในเบื้องต้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินจนรับมือไม่อยู่ เช่น

1. ตรวจสอบดูว่ามีพนักงานจำนวนเท่าไรที่ได้รับค่าจ้างต่ำ

เพราะต้องคำนึงถึงเงินส่วนอื่นๆ นอกจากค่าจ้างด้วยคือ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าล่วงเวลาและค่าคอมมิชชั่นอื่นๆ
ดังนั้นหากธุรกิจมีสวัสดิการ หรือค่าคอมมิชชั่นที่ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ผู้ว่าจ้างบางรายอาจยกเลิกสวัสดิการส่วนนี้ แล้วนำไปปรับเป็นฐานเงินเดือนให้ลูกจ้างแทนแล้วปรับเงินเดือนขึ้นตามโครงสร้างเหมือนเดิมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้

2. ประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจที่สามารถลดได้

อะไรที่ไม่จำเป็นหรือเป็นการจ่ายที่ไม่คุ้มค่าก็ควรจะลดลงก่อน ซึ่งการจะบริหารค่าใช้จ่ายของธุรกิจในส่วนนี้ได้ เจ้าของธุรกิจก็จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลธุรกิจเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลการดำเนินงานและประเมินค่าใช้จ่ายได้ตามจริง

3. สื่อสารกับพนักงานสม่ำเสมอเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายให้พนักงานเข้าหรือออก เพื่อร่วมฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน รวมถึงรักษากำลังใจของคนที่อยู่ เพราะคนคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินต่อไปข้างหน้า

ปัญหาค่าจ้างและเงินเดือนที่ทำให้ต้นทุนของกิจการเพิ่มสูงขึ้น เป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายเจ้าของธุรกิจมาทุกยุคทุกสมัย การมีสติและวางแผนแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ ก็จะทำให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ โดยสิ่งที่จะช่วยประเมินได้ว่าธุรกิจมีกำไรดีหรือไม่ มีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอไหม ก็คือ ข้อมูลทางธุรกิจที่ต้องหมั่นนำมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ และการทำข้อมูลธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือมากมาย ที่สามารถช่วยในการทำงานต่างๆผ่านระบบออนไลน์….

มองหาโปรแกรมเพื่อช่วยงาน HR บริหารงานบุคคล Click Optimistic HR App สำหรับบริหารงานบุคคล (ทดสอบฟรี)

ที่มา
https://flowaccount.com/

รูปภาพ
https://www.pexels.com/