ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี สำหรับร้านค้าออนไลน์

เปิดร้านขายออนไลน์ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เพราะลูกค้าอาจร้องขอให้ออกใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษีให้ การจะออกใบเสร็จรับเงินให้ถูกต้อง พ่อค้า แม่ค้าขายของออนไลน์ ต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และต้องรู้ว่า บุคคลธรรมดาออกใบกำกับภาษีได้หรือไม่? รวมถึงวิธีการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีออนไลน์ อีกด้วย

ใบเสร็จรับเงินคืออะไร?

ใบเสร็จรับเงิน (Receipt) คือ เอกสารที่ผู้รับเงินออกให้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว หรือลูกค้าได้ชำระเงินให้แล้ว ซึ่งรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินต้องระบุข้อมูลสำคัญในการซื้อขาย ชื่อ-สกุล ที่อยู่อาศัย เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันที่ทำรายการซื้อขาย เลขที่ใบเสร็จรับเงิน และรายการสินค้าหรือบริการ โดยตามกฎหมายกำหนดให้ออกใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง เมื่อราคาสินค้าหรือบริการมีมูลค่าตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป

ใบกำกับภาษีคืออะไร?

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารที่ผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องออกให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้งที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ รวมถึงแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากราคาของสินค้าหรือบริการในแต่ละครั้ง

ความแตกต่างระหว่างใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี

ใบเสร็จรับเงินใบกำกับภาษี
ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ออกใบเสร็จรับเงินเมื่อลูกค้าชำระแล้วเท่านั้นออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มอบสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า
แม้ว่าลูกค้าจะยังไม่ชำระ
ออกใบเสร็จรับเงินเมื่อยอดซื้อขาย มากกว่า 100 บาทออกใบกำกับภาษีทุกครั้ง ไม่มีขั้นต่ำ

วิธีออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี

ทุกวันนี้การออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปมากมายให้ได้เลือกนำมาใช้ โดยสามารเปิดบิลการขายผ่านทางออนไลน์ แล้วระบบโปรแกรมสำเร็จรูป จะทำการจัดทำใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้โดยอัตโนมัติ
แต่หากต้องออกใบเสร็จด้วยตัวเอง หรือไม่ได้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ควรต้องมีข้อมูลในการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังนี้

บุคคลธรรมดาออกใบเสร็จรับเงิน/ออกใบกํากับภาษีได้อย่างไร?

กรณีออกใบเสร็จรับเงิน แบบฟอร์มใบเสร็จรับเงินจะต้องแสดงข้อมูลสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ชื่อ-สกุล และที่อยู่ของธุรกิจ
2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
3. วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
4. ลำดับ และเลขที่ใบเสร็จรับเงิน
5. รายการ ราคาสินค้า และราคาสุทธิ ในการซื้อขายไว้ให้ครบถ้วน

ตัวอย่าง

กรณีออกใบกำกับภาษี ต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เท่านั้นจึงจะสามารถออกใบกำกับภาษีได้
แบบฟอร์มใบกำกับภาษีเต็มรูป

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นได้ชัดเจน เป็นข้อบังคับตามกฎหมายบังคับให้ต้องระบุเอาไว้ในเอกสารเพื่อให้เป็นใบกำกับภาษี
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ
  4. เลขที่ใบกำกับภาษี
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าสินค้าหรือบริการ
  6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้งแยกแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ให้เห็นชัดเจน
  7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี เป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษี และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เรียกง่ายว่าวันที่ได้มีการชำระสินค้าหรือบริการ หรือวันออกใบกำกับภาษี
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด บังคับใช้กับผู้ประกอบการ(ถ้ามี)


ตัวอย่าง

แบบใบกำกับภาษีอย่างย่อ

  1. ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลข 13 หลักของผู้ออกใบกำกับ
  2. คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
  3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
  4. ชื่อ ชนิด ประเภทสินค้า และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ (ออกเป็นรหัสได้)
  5. วันที่ออกใบกำกับภาษี
  6. ข้อความที่ระบุในใบกำกับภาษีอย่างย่อว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (VAT Included)
  7. ข้อความอื่น ๆ ที่สรรพากรกำหนด


ตัวอย่าง

ทั้งหมดนี้คือใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี ที่ร้านค้าออนไลน์ควรจะรู้และเข้าใจในรายละเอียด ถึงแม้การออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปมากมายให้ได้เลือกนำมาใช้ ก็ยังต้องการความละเอียดรอบคอบในจัดทำเพื่อป้องกันความผิดพลาด

ที่มา
https://www.page365.net/

รูปภาพ
https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/ebook/taxinvoice.pdf

https://www.pexels.com/th-th/search/tax/