ใบลดหนี้

กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายสินค้าหรือให้บริการ และได้นำส่งภาษีขายไปแล้ว ต่อมามีการลดราคาสินค้า ที่ขายหรือค่าบริการ ทำให้ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ และภาษีขายมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงนั้น มาหักออกในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออก “ใบลดหนี้” ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

สรุป “ใบลดหนี้” คือ

ใบลดหนี้ (Credit note) เป็นเอกสารทั่วไปที่ใช้ในการซื้อขายสินค้า หรือให้บริการ ใบลดหนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการทำเอกสารออกใบกำกับภาษี ให้กับลูกค้า และเกิดปัญหาตามมาไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบสินค้าชำรุด การแตกหัก สินค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ซื้อต้องการส่งสินค้าคืนแก่ผู้ขาย ผู้ขายจึงมีหน้าที่ในการลดหนี้ให้กับผู้ซื้อ โดยเอกสารที่ออกให้จะถูกเรียกว่า “ใบลดหนี้” นั่นเอง

สาเหตุการออก “ใบลดหนี้”

  • เมื่อมีการลดราคาสินค้า/บริการ เนื่องจากของที่เราส่งไปนั้น “ขาดไป” จากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือให้บริการ “ขาดไป” หรือบกพร่องหรือผิดไปจากข้อตกลงที่ตกลงกัน
  • คำนวณราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการผิดพลาด “สูงกว่า” ที่เป็นจริง
  • เราในฐานะผู้ขาย ได้รับสินค้าที่เราขายไปนั้นกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุด บกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง หรือไม่ตรงคุณสมบัติที่ตกลงไว้ ทำให้มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลง (ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันในระยะเวลาที่กำหนด)
  • มีการบอกเลิกสัญญาบริการหรือว่าไม่มีการให้บริการตามสัญญา
  • มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ซื้อ, มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้า/เงินประกัน/เงินมัดจำ ให้กับผู้ซื้อตามข้อตกลงทางการค้า

สาระสำคัญของใบลดหนี้

  1. คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
  5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมท้งงหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีด้งกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น
  6. คำอธิบายสั้นๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้
  7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ตัวอย่าง

อ้างอิง : ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
หมายเหตุ: ความสำคัญของใบลดหนี้อยู่ที่การนำสินค้าคืนกลับเข้าคลัง เราไม่สามารถรับคืนได้แต่เพียงเอกสาร ตัวสินค้าก็ต้องนำเข้าคืนคลังด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถถือได้ว่าผู้ขายได้รับการคืนสินค้านี้และออกใบลดหนี้ได้

จะเห็นได้ว่าการออกเอกสาร ไม่ว่าจะเป็น “ใบเพิ่มหนี้” หรือ “ใบลดหนี้”

ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องให้ความสำคัญ เพราะทั้งใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้กระทบการทำงานของเรา
ใบลดหนี้

  • ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ขาย ก็จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ที่คุณออกนั้น ไป “หักออก” จากภาษีขายของตนเองในเดือนที่มีการออกใบลดหนี้นั้น
  • ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ซื้อ ก็คือทำในทางตรงข้ามกัน คือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฎในใบลดหนี้นั้นไป “หักออก” จากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้นั่นเอง

ใบเพิ่มหนี้

  • ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ขาย ก็จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ที่คุณออกนั้น ไป “เพิ่มเข้า” จากภาษีขายของตนเองในเดือนที่มีการออกใบเพิ่มหนี้นั้น
  • ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ซื้อ ก็คือทำในทางตรงข้ามกัน คือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฎในใบลดหนี้นั้นไป “เพิ่มเข้า” จากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้นั่นเอง

จากการทีเราได้รู้ถึง “ใบเพิ่มหนี้” และ “ใบลดหนี้” จะเห็นได้ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินค้า/บริการ ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน มีหน้าที่ในการออกใบเพิ่มหนี้ /ใบลดหนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด หากว่าเราไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน อาจมีโทษทั้งทางแพ่ง และทางอาญาตามประมวลรัษฎากร…

ที่มา https://smemove.com/ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/14.vat_360.pdf

https://flowaccount.com/


รูปภาพ
https://www.rd.go.th/

https://www.pexels.com/