ใบเพิ่มหนี้

“ใบเพิ่มหนี้” กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายสินค้าหรือให้บริการ และได้นำส่งภาษีขายไปแล้ว ต่อมามีเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นนั้น มารวมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นออก “ใบเพิ่มหนี้” ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ใบเพิ่มหนี้ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกให้แก่ลูกค้าถือเป็น “ใบกำกับภาษี” ด้วย โดยถือเป็นภาษีขายในเดือนภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบเพิ่มหนี้สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับให้ถือเป็นภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบเพิ่มหนี้

สรุป “ใบเพิ่มหนี้” คืออะไร?

ใบเพิ่มหนี้ หรือ (Debit Note) คือเอกสารที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ให้กับผู้ซื้อ (ลูกค้า) โดยมีเจตนาที่ต้องการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่ามูลค่าของสินค้า และบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น (ตามมาตรา 82/9) จึงต้องทำการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่

สาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้

  1. เนื่องจากสินค้าหรือบริการเกินกว่า หรือคำนวณราคาต่ำกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน
  2. เนื่องจากให้บริการเกินกว่าที่ตกลงกัน หรือคำนวณราคาต่ำกว่าที่ตกลงกัน
  3. สาเหตุอื่นตามสรรพากรกำหนด

เมื่อมีเหตุการณ์ตามตัวอย่างข้างต้นนี้ เราในฐานะผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ จะต้องออกใบเพิ่มหนี้ ในเดือนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เช่น ถ้าได้รับคืนสินค้าในเดือนกรกฎาคม ก็ควรออกใบลดหนี้ในเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ ในกรณีที่คุณไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องกังวลใจว่าเราจะออกเอกสารล่าช้าไปหรือเปล่า หากออกทันทีไม่ได้ ก็สามารถออกใบเพิ่มหนี้ให้กับลูกค้าในเดือนภาษีถัดจากเดือนนั้นได้เช่นกัน

สิทธิ์ออกใบเพิ่มหนี้

  1. ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
  2. ต้องมีการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว

สาระสำคัญที่ต้องมีในใบเพิ่มหนี้
  1. คำว่า “ใบเพิ่มหนี้”
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
  5. เล่มที่/เลขที่ของใบกำกับภาษีเดิม(ถ้ามี) มูลค่าสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีเดิม มูลค่าที่ถูกต้อง ผลต่างของมูลค่าทั้งสอง และจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น
  6. คำอธิบายสั้นๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้
  7. ข้อความอื่นๆที่อธิบดีกำหนด


ตัวอย่าง

การปรับราคาสินค้าเพิ่ม เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถทำการออกใบเพิ่มหนี้ได้ โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดเท่านั้น และจะต้องเกิดขึ้นจริง หากไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนอาจมีโทษทั้งทางแพ่ง และทางอาญาตามประมวลรัษฎากรได้

ที่มา
https://www.rd.go.th/ https://pnkaccount.co.th/

รูปภาพ
https://www.rd.go.th/ https://www.pexels.com/