ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์กับงานบัญชี

จริงๆงานบัญชีสามารถผนวกกับทักษะต่างๆได้ เพื่อช่วยให้งานออกมาดี เพิ่มทักษะให้ตัวเราเก่งมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยให้เราก้าวหน้าในสายงาน หนึ่งในทักษะที่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ คือทักษะที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ “ทักษะเชิงวิพากษ์”
การคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical thinking คือ?

การจะให้ความหมายค่อนข้างจะนิยามยากสักหน่อย แต่ถ้าให้คำนิยามโดยคิดถึงแนวทางการปฏิบัติ การคิดเชิงวิพากษ์หรือ Critical thinking คือการคิดและตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ เน้นพิจารณาองค์ประกอบของข้อมูลนั้น ๆ อย่างรอบคอบ คิดเชื่อมโยงกับประเด็นต่าง ๆ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และมองลึกลงไปจนเห็นอคติหรือจุดมุ่งหมายที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลชุดนั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น รอบคอบมากขึ้น

หมายความว่า หากเราต้องการทำงานสักหนึ่งชิ้น หรือต้องการพัฒนาการทำงานที่มีความซ้ำซ้อนสูงอย่างงานบัญชี สามารถใช้ทักษะนี้ผสมผสานเพื่อสร้างการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพได้  หรือสามารถช่วยแบ่งปันผลลัพธ์กับผู้คนกลุ่มอื่นๆอย่างเพื่อนร่วมงาน หรือคนในองค์กรได้อีกด้วย ซึ่งจะเป้นผลงานที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิม เพราะผ่านการคิด วิเคราะห์อย่างละเอียดมาแล้วนั่นเอง

ประโยชน์ของการคิดเชิงวิพากษ์
  • การคิดวิพากษ์ช่วยสืบค้นความจริงแทนการคล้อยตามความเชื่อ หากเราคิดเชิงวิพากษ์จะทำให้เราไม่เชื่อหรือคล้อยตามความเชื่อแบบเดิม
  • การคิดวิพากษ์ช่วยสังเกตความแตกต่างท่ามกลางความเหมือน การคิดเชิงวิพากษ์ทำให้เราสามารถสังเกตและไม่ทำให้เราด่วนสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
  • การคิดวิพากษ์ช่วยให้เชื่อในสิ่งที่ถูกต้องไม่ถูกหลอก การคิดเชิงวิพากษ์จะมีการคิดแบบรอบคอบ จะทำให้ไม่ถูกหลอกได้
  • การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้ตัดสินตาม ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ อารมณ์ความรู้สึก ทุกวันนี้การตัดสินส่วนใหญ่มักใช้อารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้นการคิดเชิงวิพากษ์สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
  • การคิดวิพากษ์ทำให้เกิดการพัฒนา เพราะพิจารณาครบถ้วน ไม่ บกพร่อง
  • การคิดวิพากษ์เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ เพราะ กล้าคิดแนวใหม่ ไม่ปักใจ ในสิ่งเดิม

ถึงจะเป็นทักษะที่ดูซับซ้อน แต่เราสามารถฝึกฝนทักษะ Critical thinking ได้ง่าย ๆ ด้วยเทคนิคทั้ง 5 ที่คุณซาแมนธา อะกูส (Samantha Agoos) เสนอไว้ใน TED – ed ตอน 5 tips to improve your critical thinking

5 เทคนิคการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในชีวิตประจำวัน
  1. ฝึกตั้งคำถาม ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแล้วเริ่มหาข้อมูล หรือถ้ามีผลลัพธ์ที่ต้องการในใจอยู่แล้วก็ลองคิดหาวิธีการที่จะทำให้ผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นได้โดยเปรียบเทียบข้อดี – ข้อเสีย และปัจจัยต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ จากนั้นจึงเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด
  1. รวบรวมข้อมูล เมื่อมีคำถามคาใจ การหาคำตอบในยุคดิจิตอลไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในที่นี้อาจเป็นรายงานวิจัยที่แหล่งที่มาชัดเจน หรือคำแนะนำโดยตรงของผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่าลืมรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง และนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อพิจารณาอย่างละเอียดอีกทีด้วยนะ
  1. ลองนำข้อมูลไปใช้ การนำข้อมูลไปใช้ในที่นี้รวมถึงการตั้งคำถามกับข้อมูลนั้นด้วย นอกจากการตรวจสอบว่าข้อมูลนี้ตอบคำถามที่เราสงสัยได้ตรงประเด็นหรือไม่ การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับข้อมูลที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน ลองใช้คำถามพื้นฐาน เช่น “แนวคิดหลัก ๆ ของข้อมูลชุดนี้คืออะไร” “มีสมมติฐานอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกบ้าง” “เราตีความข้อมูลนี้ได้ถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้วใช่ไหม” หรือจะลองตั้งคำถามด้วยวิธีการตั้งคำถามแบบโสเครตีสก็ได้เช่นกัน
  1. คิดถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรก็จะมีผลจากการตัดสินใจนั้น ๆ ตามมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นและในระยะยาว ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม การได้ลองคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้เกิดผลอะไรตามมาบ้าง จะช่วยให้เราตัดสินใจได้รอบคอบกว่าเดิม
  1. สำรวจมุมมองอื่น ๆ ลองมองประเด็นเดียวกันจากขั้วความคิดตรงข้ามหรือสำรวจมุมมองอื่น ๆ อาจช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ช่วยอธิบายประเด็นที่เราสงสัย และช่วยให้การตัดสินใจของเรามีน้ำหนักมากขึ้น

หลักการที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบวก โดยปีเตอร์ เอลเลอร์ตัน (Peter Ellerton) ผู้สอนวิชา Critical thinking ในมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เสนอปัจจัยพื้นฐานไว้ดังนี้

  1. หลักการโต้แย้ง (argumentation) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามและการหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนแนวคิดต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปหรือทางเลือกที่ดีที่สุด
  2. หลักการใช้เหตุผลและตรรกะ (logic) หลักการใช้เหตุผล และตรรกะมีบทบาทอย่างมากต่อการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสนับสนุนสมมติฐานหรือแสดงจุดยืนของตน นอกจากนี้การให้เหตุผลแบบผิด ๆ หรือเหตุผลวิบัติ (fallacies) ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก ๆ เพราะอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
  3. หลักจิตวิทยา (psychology) ในบางครั้งข้อมูลที่เราได้รับก็ไม่ได้มีเพียงข้อเท็จจริง แต่ยังมีอคติ อารมณ์ ความเห็นส่วนตัว หรือจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝงอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้รับข้อมูลที่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ การเข้าใจหลักจิตวิทยาพื้นฐานจึงช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดและการตัดสินใจที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น
  4. หลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (the nature of science) กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ การทดลองเพื่อหาข้อสรุป รวมถึงสถิติและข้อมูลต่าง ๆ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณในท้ายที่สุด

ในยุคที่เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย แถมข้อมูลมากมายก็ลอยอยู่ทั่วโลกอินเทอร์เน็ต การคิดเชิงวิพากษ์เป็นทักษะที่จะช่วยให้เราแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกมาได้ รวมถึงช่วยให้เราตัดสินใจ และแสดงจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ข้อควรตระหนัก การจะนำทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ไปใช้ได้อย่างดีนั้น ต้องเปิดกว้างด้านความคิด ไม่ใช่การนำปัญหามาสร้างปัญหาเพิ่ม แต่เรานำปัญหามาร่วมกันแก้ไข ไม่ว่ามุมมองจะแตกต่าง หรือเหตุผลจะต่างกันมาแค่ไหน ทุกคนต้องเปิดใจรับฟังทั้งส่วนดี ส่วนไม่ดี ทั้งตามแนวเหตุและผล หรือความรู้สึกและอารมณ์ โดยมีแนวจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น จนออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด

“นักบัญชีเองก็สามารถนำเทคนิคการคิดเชิงวิพากษ์ ไปประยุกต์ใช้  ในการทำงานบัญชียุคใหม่ ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆได้ รวมถึงสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ได้อย่างทันเหตุการณ์ ทำให้สามารถเติบโตในสายงานได้อย่างสมบูรณ์”