E-Payment ภาษีนี้ใครต้องจ่ายบ้าง?

ภาษี E-payment หรือที่ใครๆ เรียกว่าภาษีอีเพย์เมนต์ เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562
ซึ่งตามความหมายที่ได้ถูกกล่าวถึงในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หมายถึง ผู้ที่รับโอนเงินเข้าบัญชี มียอดเงิน หรือจำนวนครั้งที่โอน ถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็จะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี ซึ่งไม่ได้รวมแค่คนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิ์โดนเหมือนกันหมด
ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 โดยให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563

และมีเงื่อนไขที่ทำให้ต้องแสดงบัญชีกับกรมสรรพากร ดังนี้

  1. ฝาก หรือโอนเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้ง/ปี นับเฉพาะจำนวนครั้งที่รับโอนเท่านั้น ไม่ว่าจะมีมูลค่ามาก หรือน้อยแค่ไหนก็ตาม
  2. ฝาก หรือโอนรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท/ปี ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 อย่างนี้ ถึงจะโดนตรวจสอบแต่หากน้อยกว่านี้ หรือเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่ถูกตรวจสอบ

หากคุณมีคุณสมบัติดังนี้ ก็จะทำให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูล เลขประจำตัวประชาชน, ชื่อ-สกุล, เลขที่บัญชีเงินฝาก, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน, ยอดรวมของการฝากหรือโอนรับเงิน เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและเก็บภาษีได้จำนวนที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การนับยอดทำธุรกรรมตามเงื่อนไขที่กล่าวมาจะเป็นแบบรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ โดยข้อมูลที่่ส่งจะแยกเป็นรายสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้รวมข้อมูลหรือเชื่อมโยงกัน

โดยยอดเงินเข้าบัญชี เพื่อการตรวจสอบ ภาษี E-payment จะประกอบด้วย

  • ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจากเคาน์เตอร์หรือตู้ฝากเงิน
  • ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชี ไม่ว่า Auto Transfer/Online/iBanking
  • ยอดเงินโอนจากเครื่องรูดบัตร ซึ่งนับตามจำนวนครั้งที่รูดแม้ธนาคารจะโอนยอดครั้งเดียวหลังสิ้นวัน
  • ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี
  • ยอดเงินเข้าบัญชีจากดอกเบี้ยรับหรือจากเงินปันผล

หากมีการทำธุรกรรมเข้าเงื่อนไข ต้องทำอย่างไร?

การถูกนำส่งข้อมูลเพื่อรายงานถึงยอดเงินที่เข้าบัญชีทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษีทั้งหมด เนื่องจากบางกรณีอาจเป็นการคืนเงินกู้ หรือการรับเงินที่ฝากไปทำบุญ ฯลฯ ดังนั้น กรมสรรพากรจะนำข้อมูลนี้ไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเจ้าของบัญชีควรจัดเตรียมเอกสาร และหลักฐานการรับ – โอนเงินให้ชัดเจน ดังนี้

  • บุคคลธรรมดา ที่รับเงินตามปกติก็ไม่ต้องทำอะไร
  • ผู้รับงานฟรีแลนซ์ ที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ต้องทำอะไร
  • พ่อค้าแม่ค้าและร้านค้าที่จดทะเบียนการค้า จดทะเบียน VAT และเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมจากปกติ
  • พ่อค้า/แม่ค้า/ร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่เคยเสียภาษี แนะนำให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีที่ใช้ทำธุรกิจออกจากกัน เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินไว้ให้หมด เพื่อเอาไว้ยื่นภาษี พร้อมทั้งยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง
  • พ่อค้าแม่ค้าออฟไลน์และกิจการขนาดเล็กที่ยังไม่เคยเสียภาษีให้ถูกต้อง แนะนำให้จดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แถมยังสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือจะพูดให้ง่ายๆ ก็คือ เสียภาษีจากกำไร ถ้าช่วงแรกยังไม่มีกำไรก็ยังไม่ต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ดี พ่อค้าแม่ค้าหรือร้านค้าไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ที่ไม่เข้าเงื่อนไขถูกนำส่งข้อมูลก็พึงเสียภาษีประจำปีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะทุกคนที่มีรายได้ย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง

ใครกันที่มีส่วนได้ – ส่วนเสียกับภาษีนี้

  • สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ E-Wallet/Payment Gateway ทุกราย เพราะมีหน้าที่รายงาน หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
  • เจ้าของบัญชีทุกคนที่มีธุรกรรมเข้าเงื่อนไข โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงร้านค้า ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แม้แต่พนักงานฟรีแลนซ์ รวมถึงคนขับรถที่ให้บริการแพลตฟอร์ม Delivery ทั้งหลาย

เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขในการเสียภาษี E-Payment กันอย่างดีแล้วหวังว่าทุกท่านคงจะเตรียมตัวในการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด “เพราะทุกคนที่มีรายได้ย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง นั้นเอง”

ที่มา https://www.moneyguru.co.th/

รูปภาพ
https://www.pexels.com/